หากต้องการช่วยสร้างร่มเงาให้กับบ้าน กันสาดพับเก็บถือเป็นอุปกรณ์ยอดนิยม เพราะไม่ใช่แค่สามารถบังแดด บังฝน ได้เท่านั้น หากช่วงเวลาไหนต้องการพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้ปลอดโปร่ง มีอากาศถ่ายเทได้อย่างเต็มที่ ก็สามารถพับเก็บได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจยังไม่รู้จักกับอุปกรณ์ประเภทนี้ดีเท่าไหร่นัก บทความนี้จะพาคุณไปทำความเข้าใจให้มากขึ้นกว่าเดิม
1. กันสาดพับเก็บคืออะไร?
บางคนก็เรียกว่า “กันสาดแขนยื่น” ด้วยลักษณะของอุปกรณ์ที่สามารถพับเก็บได้จากท่อกลมม้วนที่ติดตั้งอยู่ตรงด้านบนของผ้าใบ ส่วนด้านในจะมีแขนกันสาด จึงทำให้ม้วนเข้า-ออกได้ง่าย ผ้าที่ใช้ทำกันสาดประเภทนี้ต้องเป็นผ้าใบ กลไกที่ทำให้การพับเก็บสะดวกขึ้นมาจากสปริงกับโซ่ (บางรุ่นอาจเป็นเชือก) ซึ่งเวลาเก็บผ้าใบ เจ้ากลไกตัวนี้จะช่วยยึดผ้าใบให้ตึงเอาไว้ตลอดเวลา เมื่อดึงออกมา ระยะของผ้าใบจะกางได้จนสุดแขน หากต้องการระยะเท่าไหร่ก็สามารถหยุดตรงจุดนั้น ๆ ได้ทันที ทั้งนี้ด้านล่างของตัวกันสาดมักวางยึดเอาไว้กับท่อสี่เหลี่ยมที่ทำจากอะลูมิเนียมเพื่อช่วยไม่ให้ร่วงหล่นลงมา ส่วนใครที่ใช้รุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องหมุนด้วยตนเองเพราะมีการติดตั้งมอเตอร์ให้เปิด-ปิดอัตโนมัติได้ตลอดเวลา
2. กันสาดพับเก็บแบบผ้าใบ
สำหรับผ้าใบที่ใช้ทำกันสาดผลิตขึ้นมาจากผ้าที่ผ่านการทอเป็นผืนแล้วเคลือบด้วยวัสดุกันน้ำ ช่วยป้องกันไม่ให้น้ำผ่านเข้ามาภายในได้ เนื้อผ้าที่ใช้ส่วนใหญ่จะทำด้วยไนลอน จากนั้นเคลือบ PVC ทับอีกชั้น เพิ่มความแข็งแรง ทนแดดทนฝนได้ดียิ่งขึ้น ใช้งานได้ยาวถึง 3-4 ปีเลยทีเดียว ทั้งนี้การเลือกผ้าใบที่ดีต้องดูที่ลักษณะการทอ มีเส้นทอเรียงตัวสวย ไม่มีจุดขาดเว้าแหว่งใด ๆ ทั้งสิ้น เมื่อสัมผัสแล้วรู้สึกถึงความหนาของชั้นเคลือบได้ทันที ไม่ใช่เนื้อผ้านิ่ม ๆ ด้วยยุคสมัยที่พัฒนาขึ้นก็เกิดประเภทผ้าใบใหม่ ๆ ที่มีความแข็งแรงทนทานกว่า PVC ได้แก่ ผ้าโซล่าวิลล์ มีลักษณะโปร่งแสง เส้นใยเยอะกว่าผ้าใบทั่วไป 4 เท่า แข็งแรง เนื้อเหนียว ใช้งานได้ 5-6 ปี และ ผ้าใบอะคริลิก เนื้อผ้าใบทำจากอะคริลิกพร้อมเคลือบสารกันน้ำอย่างดี ช่วยเพิ่มอายุการใช้งานได้ยาวนานกว่า 8 ปี
เรื่องของสีผ้าใบก็สำคัญเช่นกัน โดยสีเข้ม เช่น สีเขียวขี้ม้า สีน้ำเงิน สีดำ จะป้องกันแสงและรังสียูวีได้มากกว่าผ้าใบโทนสีอ่อน ช่วยให้บริเวณใต้ผ้าใบไม่รู้สึกร้อนจนเกินไป โดยการเลือกสีเหล่านี้ไม่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการกันฝนแต่อย่างใด เพราะเนื้อผ้าใบสามารถกันได้ 100% อยู่แล้ว
3. กันสาดพับเก็บแบบระบาย
ระบายกันสาดก็คือส่วนด้านล่างที่ต่อลงมาจากโครงอีกชั้น มีลักษณะห้อยเรียงตัวกัน คนส่วนใหญ่มักคิดว่าการมีระบายกันสาดเพื่อให้ดูสวยงาม ไม่โล่งเตียน เหตุผลตรงนี้ก็ถูกส่วนหนึ่งแต่ที่จริงมีมากกว่านั้น เพราะระบายกันสาดจริง ๆ แล้ว ยังช่วยให้เกิดความสมดุลของตัวกันสาด ช่วยเพิ่มช่องลมให้เข้ามาภายใน ลดความร้อน ระบายความอบอ้าวได้เป็นอย่างดี การเลือกแบบระบาย จริง ๆ ขึ้นอยู่กับความชอบของผู้ใช้งาน แต่ส่วนใหญ่ที่นิยมคือ แบบระบายสไตล์ยุโรป ลักษณะจะคล้ายรูปตัว U เย็บติดกันจากต้นไปจนถึงด้านปลายกันสาด เพราะช่วยเพิ่มความเนียนตาเวลามองเข้ามา แต่ถ้าใครจะใช้ทรงแหลมแบบตัว V ก็ไม่มีปัญหาเช่นกัน สีสันก็เน้นให้แบบเดียวกับตัวกันสาด ดูกลมกลืน
4. กันสาดพับเก็บแบบมอเตอร์
ด้วยชื่อก็บ่งบอกชัดเจนว่า กันสาดพับชนิดนี้มีการนำเอาระบบมอเตอร์เข้ามาเป็นส่วนประกอบเพื่อช่วยให้การใช้งานสะดวกยิ่งขึ้นกว่าเดิม มอเตอร์ไฟฟ้าที่ติดตั้งจะทำหน้าที่ในการหมุนเปิด-ปิดกันสาดได้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน โดยระบบสั่งมีได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับการเลือกนำมาใช้ เช่น หากอยากได้ราคาที่ประหยัดงบหน่อย ก็เลือกกันสาดพับเก็บมอเตอร์ที่ใช้สวิตช์กด
สำหรับคนที่ไม่ติดขัดเรื่องงบประมาณ ต้องการความหรูหรา ความสะดวกสบาย ไม่ต้องเดินไปกดที่สวิตช์ให้เสียเวลา อาจเลือกใช้ระบบรีโมทที่จะมีตัวจับเซนเซอร์กับมอเตอร์ไฟฟ้า เมื่อกดปุ่ม มอเตอร์ก็จะทำหน้าที่ตามคำสั่ง หรืออีกรุ่นที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้นคือ สั่งการผ่านสมาร์ตโฟน โดยดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ใช้งานมาไว้ในมือถือ จากนั้นก็สั่งการได้ตามใจชอบ
5. กันสาดพับเก็บแบบมือหมุน
เป็นระบบกันสาดพับเก็บทั่วไปที่เห็นได้อยู่บ่อย ๆ เนื่องจากมีราคาถูกกว่ากันสาดแบบมอเตอร์ ลักษณะของการทำงานคือ จะมีตัวมือหมุนยื่นออกมาใช้สำหรับการหมุนเข้า-ออกของตัวผ้าใบ เมื่อทำการหมุนเฟืองที่ติดอยู่กับโซ่จะค่อย ๆ คลายตัวออกไปตามลักษณะที่หมุน
สำหรับบ้านเรือนทั่วไปที่ไม่ได้เน้นความหรูหราหรือความสะดวกสบายมากนัก แค่พอให้สามารถป้องกันแดดฝนก็เพียงพอ จึงมักเลือกกันสาดพับเก็บแบบมือหมุนมากกว่า ซึ่งกันสาดประเภทนี้ยังสามารถกะระยะการหยุดได้ด้วยตนเอง หากไม่ต้องการกางผ้าใบให้กว้างเกินไปก็หยุดในระยะที่เหมาะสม ไม่จำเป็นต้องกางออกให้ตึงสุดตลอดเวลา
6. การติดตั้งกันสาดพับเก็บ
ทิศทางการติดตั้งกันสาดก็เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะถ้าเลือกติดทิศไม่ดี ความร้อนก็ยังคงส่งผ่านเข้าตัวบ้านได้ ไม่ช่วยระบายความร้อนใด ๆ ทั้งสิ้น หลัก ๆ แล้วทิศทางที่เหมาะสมกับการติดตั้งกันสาดเพื่อช่วยป้องกันความร้อนคือทิศตะวันตกและทิศใต้ เพราะแสงแดดในช่วงเวลาบ่ายถึงเย็นจะมีความร้อนระอุมากกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ ทั้งนี้ในกรณีที่ต้องการติดตั้งกันสาดเพื่อช่วยกันฝนหรือให้ร่มเงากับพื้นที่ที่มักอยู่อาศัยในบ้านเป็นประจำ ก็ไม่ได้จำเป็นต้องเลือกทิศทางใด ๆ เน้นความสะดวกต่อการใช้งานเอาไว้ก่อน เท่านี้ก็ช่วยให้บ้านของคุณเกิดความร่มเย็น ไม่ร้อนอบอ้าว และยังใช้ประโยชน์ได้สูงสุดเมื่อนำมาติดตั้ง อีกเรื่องที่อยากฝากไว้คือ กรณีบ้านไหนมีช่องแสงต้องเลือกกันสาดที่แข็งแรง ทนทาน เพราะความร้อนที่ส่องลงมาจะมากกว่าปกติ
7. การดูแลรักษากันสาดพับเก็บ
หน้าที่สำคัญของกันสาดพับเก็บก็คือช่วยป้องกันแสงแดดและฝนไม่ให้เข้ามาถึงตัวบ้านได้ หากไม่มีการดูแลรักษาใด ๆ เลย จะทำให้ใช้งานได้ไม่นาน แนะนำว่าช่วงเวลาที่แดดร่มลมตก ไม่ร้อนและไม่มีฝน ให้ดึงกันสาดพับเก็บเข้ามาแล้วทำความสะอาดด้วยการปัดถู เช็ดด้วยผ้าบิดหมาดเบา ๆ ไม่ต้องใช้น้ำยาใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะจะทำให้ผ้าใบซีดจางได้ง่าย
ถ้าหากมองเห็นว่าบางจุดของกันสาดพับเก็บเริ่มมีรอยรั่ว ควรรีบหาวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้รอยขยายกว้างออกไป เช่น นำพลาสติกมาปิดทับเอาไว้อีกชั้น เป็นต้น เท่านี้ก็จะช่วยให้กันสาดพับเก็บของคุณอยู่ไปได้อีกนาน ๆ โดยไม่ต้องเสียเงินเปลี่ยนกันบ่อย
8. ราคาของกันสาดพับเก็บ
สำหรับราคากันสาดพับเก็บที่ขายตามท้องตลาดนั้นมีด้วยกันหลายราคา เริ่มตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ ประการ ไม่ว่าจะเป็น วัสดุที่นำมาใช้ในการผลิต ขนาดกันสาด ยี่ห้อ ระบบกันสาด (มือหมุนหรือมอเตอร์) โดยระบบมือหมุนจะมีราคาถูกกว่าระบบมอเตอร์ อย่างไรก็ตามการจะเลือกซื้อกันสาดพับในราคาคุ้มค่าต้องมองเรื่องคุณสมบัติเป็นหลัก เลือกวัสดุชั้นดีทุกจุดไม่ใช่แค่ตัวผ้าใบ รวมถึงโครงอะลูมิเนียม กลไกมอเตอร์ สปริง เฟือง ฯลฯ หากทุกอย่างดูเหมาะสม คุณภาพดี ก็ถือว่าได้ราคากันสาดพับเก็บที่มีความคุ้มค่ามาก ๆ แล้ว ต่อไปก็ลองพิจารณาดูจากหลาย ๆ ยี่ห้อ ตามงบประมาณที่คุณมี
เมื่อเข้าใจเรื่องของกันสาดพับเก็บที่เราบอกในบทความนี้แล้ว จะช่วยให้ทุกคนสามารถเลือกมาใช้งานได้อย่างเหมาะสม คุ้มค่า ไม่ต้องเสียเงินเปลี่ยนใหม่บ่อย ๆ อีกทั้งยังช่วยให้บ้านมีร่มเงา กันแดดกันฝนได้เป็นอย่างดี
รู้จักกันสาดพับเก็บ ตัวช่วยบังแดดบังฝนคู่บ้าน อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://techwealth99.com/