คำว่าศิลปิน ทำให้เราคาดหวังว่าจะได้พบกับไอเดียผลงานที่แปลกตาอลังการ แต่ถ้าเป็น “บ้าน” เราพบว่าการตีความที่อยู่อาศัยของผู้สร้างสรรค์งานศิลป์ไม่น้อยมีความเรียบ ง่าย ติดดินใกล้ชิดธรรมชาติแบบ down to earth โครงการบ้าน The Artist’s residence ก็เป็นหนึ่งแบบบ้านที่ว่า ด้วยแนวคิดพื้นฐานของสถาปนิกและเจ้าของบ้านที่ช่วยสร้างสรรค์แบ่งปันไอเดียกันอย่างลงตัว ทำให้ที่นี่กลายเป็นผืนผ้าใบขนาดใหญ่ให้ระบายจินตนาการลงไปได้เต็มที่
บ้านที่สร้างจากวัสดุบ้านๆ
ขึ้นชื่อว่า Artist เราก็อาจจะนึกถึง Ego ที่อาจสูงจนทำงานร่วมกับสถาปนิกได้ยาก แต่ไม่ใช่กับบ้าน 232 ตารางเมตร ผลงานออกมาเป็นบ้านรูปทรงเรียบง่าย วัสดุบ้าน ๆ หาได้ในท้องถิ่นโชว์ความเป็นเนื้อแท้ที่สอดรับกับฟังก์ชัน สภาพอากาศ และบริบทแวดล้อม
บ้านจากอิฐศิลาแลง
รอบๆ พื้นที่ไซต์นี้เต็มไปด้วยความงดงามของธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ นก ผีเสื้อ หินศิลาแลง ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของการเลือกใช้หินศิลาแลง คอนกรีตเปลือยขัดมัน และไม้ไผ่ที่หาได้ในท้องถิ่น เป็นองค์ประกอบสำคัญของบ้าน ซึ่งนอกจากจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นมิตรกับงบประมาณด้วย จากประตูรั้วเตี้ย ๆ ที่ทำจากปล้องไม้ไผ่ เปิดเข้ามาก็จะพบกับผนังศิลาแลงเจาะช่องวงกลม เมื่อเข้าสู่ภายในจะต้อนรับด้วยพื้นที่อันเงียบสงบใต้ต้นอาลัม เป็นพื้นที่สำหรับความสงบและการทำสมาธิ
บนผนังหินสีน้ำตาลแดงมีภาพเทพเจ้าแห่งป่าหลายสิบองค์ที่วาดบนวงไม้ไผ่ แล้วนำมาติดประดับตกแต่งผนัง เมื่อแสงแรกของดวงอาทิตย์ขึ้นส่องผ่านช่องวงแหวนก็จะไปกระทบยังผนังศิลาแลงนี้อย่างงดงาม
จากทางเข้าหลักของบ้านจะนำคุณผ่านประตูโลหะแบบพับได้ ที่มีส่วนตัดของไม้ไผ่เป็นวงกลมประดับอยู่ เปิดออกเพื่อเข้าสู่บล็อกแรกของบ้านซึ่งเป็นพื้นที่นั่งเล่นและรับประทานอาหาร พร้อมที่เบาะมีพนักพิงนั่งเตี้ยๆ ซึ่งเป็นเฟอร์นิเจอร์เพื่อส่งเสริมวิถีชีวิตที่มีสุขภาพดี เพราะเหมาะกับการนั่งท่าปัทมอาสนะในประจำวัน จากจุดนี้จะมองเห็นหุบเขาผ่านผืนน้ำนิ่งในสระขนาดใหญ่ในใจกลางบ้าน พร้อมสวนแนวตั้งที่ขนาบข้างที่เติ่มความสดชื่นให้บ้านเขตร้อนชื้นดูชุ่มฉ่ำ
ทางทิศตะวันตกมีหุบเขาและเนินเขา ซึ่งมีลมที่สม่ำเสมอพัดขึ้นเนินเขาไหลผ่านประตูหน้าต่างเข้ามาในพื้นที่นี้ ผ่านสระน้ำน้ำ และกระจายออกไปภายใน ทำให้บ้านเต็มไปด้วยสภาวะสบาย
พื้นผิวของบ้านในโซนนี้จะเป็นปูนเปลือยขัดเป็นมันเงา เราจะเห็นว่าบนผืนผนังมีร่องรอยเหมือนรอยแตกร้าวของคอนกรีต ที่มักจะพบเห็นได้ง่ายสำหรับงานที่มีข้อบกพร่อง หากเป็นบ้านของคนอื่นๆ ทั่วไปอาจจะกังวลใจ แต่ไม่ใช่กับบ้านนี้เพราะเจ้าของได้เปลี่ยนจุดด้อยให้เป็นจุดเด่นด้วยการเขียนลายเส้นให้เหมือนเป็นกิ่งก้านของต้นไม้ จังหวะสุ่มบนผนังนี้จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพของศิลปิน ใส่ความคิดสร้างสรรค์ของเขาที่ไม่มีขอบเขตของพื้นที่และเวลา
จากห้องนั่งเล่นจะมีพื้นที่ไล่ระดับลงมาเพื่อเชื่อมต่อไปยังอาคารอื่นๆ ตรงจุดนี้จะทำเป็นสเต็ปบันไดกว้างๆ ให้ลูกและเด็กในท้องถิ่นที่สนใจงานศิลปะ ได้มาใช้เวลานั่งเล่นวาดรูปกันที่นี่ โดยในแต่ละระดับติดตั้งช่องแสงสี่เหลี่ยมเล็กๆ ตรงผนังให้แสงและวิวเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน วาดไปชมวิวไปยิ่งทำให้เด็ก ๆ ปลดปล่อยจินตนาการได้อย่างเต็มที่
ทางเดินและการเชื่อมต่อระหว่างอาคาร เป็นช่องทางโปร่งๆ ที่เต็มไปด้วยแสงจากหลังคา skylight และไม่ขาดธรรมชาติ ให้อารมณ์ความรู้สึกเหมือนได้เดินอยู่ท่ามกลางสวนกลางแจ้งตลอดเวลา จนไม่แน่ใจว่ามีบ้านในสวนหรือสวนอยู่ในบ้านแบบที่เรียกว่า Inside out-outside in
บล็อกที่สองของบ้านตั้งอยู่บนโครงร่างด้านล่าง เป็นอาคารสองชั้นที่มีทางเดินเชื่อมต่อกับบล็อกหลัก ซึ่งทำหน้าที่เป็นพื้นที่รับประทานอาหารแบบไม่เป็นทางการ พื้นที่อ่านหนังสือสำหรับเด็ก ห้องดูทีวี ห้องเรียนศิลปะในชั้นล่าง และห้องทำงานศิลป์ที่ชั้นบน
ความท้าทายหนึ่งของการก่อสร้างบ้านนี้ คือ การสร้างโดยไม่รบกวนสภาพธรรมชาติ ตามแนวคิดที่ว่า “รักษาหินทุกก้อน ต้นไม้ทุกต้น” ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อธรรมชาติน้อยมาก ต้นไม้เดิมทุกต้นบนไซต์มีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของบ้านทั้งหมด ไม่มีต้นไม้แม้แต่ต้นเดียวในพื้นที่ถูกตัดหรือรบกวนจากตำแหน่งที่อยู่มาก่อน (ยกเว้นต้นมะพร้าวที่ปลูกใหม่ภายในพื้นที่) อย่างในแกนกลางของบ้านจะมีต้นไม้อายุ 15 ปีที่อยู่ในคอร์ทกลางเพดานสูงเป็นสองเท่า ซึ่งสถาปนิกเปิดพื้นที่ต้นไม้ให้เติบโตผ่านช่องรับแสงทรงกลมบนเพดาน บ้านกับธรรมชาติจึงอยู่ร่วมกันได้อย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยให้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน
แสงทรงกลมบนเพดาน ที่นอกจากจะเป็นช่องทางให้ต้นไม้เติบโตเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน ยังเป็นสปอร์ตไลท์ที่เคลื่อนไหวไปตามทิศการเดินทางของแสง ต้นไม้และพื้นผิวศิลาแลงที่เปลือยเปล่าสร้างฉากหลังที่เป็นธรรมชาติสำหรับสตูดิโอ
ที่ผนังคอร์ทและชั้นบนสตูดิโอจะมีประตูโครงเหล็กสูงหลายเมตรเรียงกันหลายบาน ออกแบบให้เป็นแบบหมุนเปิดปิดได้ ซึ่งตัวเหล็กมีความแข็งแรงมากพอที่จะให้สไปเดอร์บอยปีนป่ายเล่นได้ เป็นฟังก์ชันเสริมที่ทำให้บ้านกลายเป็นสนามเด็กเล่นแบบไม่ได้ตั้งใจ
ศิลาแลงเป็นวัสดุธรรมชาติเฉพาะถิ่นเขตร้อนชื้น แต่ในในเมืองไทยไม่นิยมสร้างบ้าน เพราะมีความเชื่อว่าเป็นวัสดุที่ใช้สร้างวัด ไม่ควรนำมาก่อสร้างอาคาร ประกอบกับเนื้อมีรูพรุน จึงกังวลเรื่องการซึมน้ำ และการผุกร่อนง่าย จริง ๆ แล้วศิลาแลงสามารถสร้างได้เหมือนกับการใช้อิฐแดง เพียงแต่มีขั้นตอนเพิ่มเล็กน้อย เช่น ถ้าเกิดรูพรุนก็สามารถอุดด้วยยาแนวได้ การก่อเหมือนก่ออิฐ ควรมีเสาเอ็นคอนกรีตเสริมเหล็ก และทำทับหลังคอนกรีตเสริมเหล็ก ช่วยเสริมให้ผนังมีความแข็งแรง เพราะศิลาแลงมีน้ำหนักค่อนข้างมาก
ออกแบบบ้านชั้นเดียว: บ้านคนติสท์ เป็นมิตรกับธรรมชาติ เป็นมิตรกับงบประมาณ อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://luxuryhomesdesigns.com/