ศูนย์ข้อมูลโควิด-19: พูดคุยกับเด็กอย่างไร เพิ่มความเข้าใจในสถานการณ์โควิด-19ไม่เพียงแต่ผู้ใหญ่ที่รู้สึกตื่นตระหนก สับสน หรือหวาดกลัวในการระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) แต่เด็กหลายคนอาจรู้สึกคล้ายกันเมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ทำให้ชีวิตประจำวันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองต้องพูดคุยกับลูกให้เข้าใจถึงตัวโรคและวิธีป้องกันตัวเองจากการได้รับเชื้อไวรัสโคโรนาอย่างถูกวิธี
เด็กรับรู้ข้อมูลของโรคโควิด-19 ได้ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ บางคนอาจรู้สึกกังวลว่าตนเอง คนในครอบครัว หรือเพื่อนอาจติดเชื้อ แต่ความสามารถของเด็กในการคัดกรองและเลือกรับสารจากแหล่งข้อมูลที่เหมาะสมอาจทำได้ไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ ผู้ปกครองและครูควรมีบทบาทในการให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาและถูกต้อง เพื่อช่วยให้เด็กไม่รู้สึกกังวลหรือหวาดระแวงต่อโรคมากจนเกินไป
เริ่มพูดคุยเรื่องโรคโควิด-19 กับเด็กอย่างไรดี
ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจต่อการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และวิธีการป้องกันการติดเชื้ออย่างถูกต้องจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้เสียก่อน เช่น หน่วยงานรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก (WHO) หรือศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) เป็นต้น ก่อนจะอธิบายให้เด็กฟัง ผู้ปกครองควรเลือกเวลาที่เหมาะสมในการพูดคุย พร้อมทั้งประเมินความเข้าใจเรื่องโรคโควิด-19 ด้วยการสอบถามเด็กในประเด็นต่อไปนี้
ข้อมูลทั่วไปของโรคโควิด-19
เด็กควรได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ที่ถูกต้อง โดยอาจอธิบายผ่านการเล่านิทานหรือใช้ภาพประกอบเพื่อให้เข้าใจง่ายและเหมาะสมกับช่วงวัย ในขณะเดียวกัน ผู้ที่อธิบายควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่าความรู้สึกของตนเองหรือสอบถามในสิ่งที่สงสัยได้ในทางกลับกัน ซึ่งตัวอย่างในการอธิบายข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เช่น
โควิด-19 เป็นโรคใหม่ที่เกิดจากเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายและทำให้ไม่สบาย หากเป็นเด็กโตอาจระบุเจาะจงเพิ่มได้ว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา
ผู้ที่ได้รับเชื้ออาจมีอาการไอ เจ็บคอ มีไข้ และหายใจติดขัด แต่บางคนอาจมีน้ำมูกเล็กน้อย หรือไม่มีอาการใด ๆ เลย
เชื้อไวรัสมีขนาดเล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า มักจะติดอยู่บนสิ่งของต่าง ๆ หากหยิบจับสิ่งของแล้วไปจับใบหน้า ขยี้ตา หรือหยิบขนมเข้าปากโดยที่ไม่ได้ล้างมือ จะทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้น จึงควรล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร หลังการไอจาม หลังออกไปเล่นข้างนอก และหลังเข้าห้องน้ำ
หากอยู่นอกบ้านแล้วเจอคนไอหรือจามใกล้ ๆ เราอาจจะได้รับเชื้อโรคไปด้วย จึงควรสวมหน้ากากอนามัย หากเป็นไปได้ เราควรพยายามอยู่ห่างจากคนอื่นหรือไปอยู่ในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก
กระตุ้นให้เด็กป้องกันตัวเองจากเชื้อไวรัสโคโรนา
ผู้ปกครองควรสอนเรื่องการทำความสะอาดหรือสุขอนามัยให้เป็นเรื่องสนุก เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกเบื่อและไม่รู้สึกว่าถูกบังคับให้ทำ เช่น ชวนเด็กร้องเพลงประกอบในระหว่างสอนวิธีล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ให้ถูกต้อง สวมหน้ากากอนามัยให้เด็กทุกครั้งเมื่อออกนอกบ้าน รวมไปถึงสอนถึงวิธีการไอหรือจามที่ถูกต้อง โดยควรใช้ข้อศอกหรือกระดาษทิชชู่ปิดปากและจมูกทุกครั้ง จากนั้นทิ้งกระดาษทิชชู่ที่ใช้แล้วลงถังขยะให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่กระจาย
สร้างความมั่นใจให้แก่เด็ก
ผู้ปกครองอาจพูดให้เด็กเข้าใจเพื่อจะได้ไม่เกิดความรู้สึกเครียดหรือกังวลจนเกินไป เช่น แม้จะเป็นโรคใหม่และยังไม่มียาที่จะป้องกันโรคได้ แต่แพทย์และนักวิทยาศาสตร์พยายามอย่างอย่างเต็มที่ในการคิดค้นยาป้องกันโรค หากรู้สึกไม่สบายก็อย่าเพิ่งกลัวว่าจะติดเชื้อโควิด-19 ควรรีบบอกพ่อแม่ ญาติ หรือคุณครูให้ช่วยเหลือ เพราะอาการป่วยอาจเกิดจากโรคอื่น ๆ ได้ เป็นต้น
วิธีดูแลลูกให้ห่างไกลจากโรคโควิด-19
นอกจากการพูดคุยและอธิบายให้เด็กฟังแล้ว ผู้ปกครองอาจดูแลเด็กด้วยวิธีอื่น ๆ ดังนี้
จำกัดการรับข้อมูลข่าวสารของเด็ก เนื่องจากอาจได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจากสื่อต่าง ๆ อย่างอินเทอร์เน็ตและโทรทัศน์ หรือเด็กอาจรู้สึกหวาดกลัวและวิตกกังวลหากรับข้อมูลมากเกินไป
ทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ โดยกำหนดเวลารับประทานอาหาร เข้านอนและตื่นนอนให้กับเด็ก แบ่งเวลาสำหรับการเรียน การทำกิจกรรมร่วมกันกับคนในครอบครัว และการพักผ่อนอย่างเหมาะสม
หมั่นสังเกตสภาพจิตใจของเด็ก บอกกับเด็กว่าเป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกเครียดหรือกังวล และเปิดใจรับฟังความไม่สบายใจของเด็กควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ
นอกจากนี้ ผู้ปกครองควรดูแลสุขภาพตนเองให้ดีด้วยเช่นกัน เพื่อจะได้เอาใจใส่และปกป้องเด็กได้อย่างเต็มที่ ในกรณีที่เด็กหรือคนในครอบครัวมีอาการเครียดหรือวิตกกังวลจากเหตุการณ์จนทำให้กระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น มีปัญหาด้านการกิน การนอนหลับ ไม่มีสมาธิ และความจำแย่ลง หรือมีอาการป่วยอื่นใด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษา
เด็กเป็นวัยที่ช่างสังเกตและสามารถรับรู้ถึงความวิตกกังวลจากคนใกล้ชิด ทำให้รู้สึกสับสนและหวาดกลัวได้ง่ายเมื่อการใช้ชีวิตตามปกติต้องเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น ครอบครัวจึงควรดูแลเอาใจใส่เด็กอย่างใกล้ชิดทั้งในสถานการณ์ที่โรคโควิด-19 ยังแพร่ระบาดอยู่และดูแลต่อเนื่องแม้สถานการณ์ดีขึ้น เพื่อให้เด็กใช้ชีวิตในช่วงวัยของพวกเขาได้อย่างมีความสุข