หมอออนไลน์: พังผืดส้นเท้าอักเสบ (Plantar fasciitis)พังผืดส้นเท้าอักเสบ (เอ็นฝ่าเท้าอักเสบ โรครองช้ำ ก็เรียก) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของอาการปวดส้นเท้าหรือฝ่าเท้า พบได้บ่อยขึ้นตามอายุที่มากขึ้น พบบ่อยในคนอายุ 40-60 ปี และพบในผู้หญิงมากว่าผู้ชาย มักพบในคนอ้วน นักกีฬา นักวิ่ง ผู้ที่ทำงานหนัก หรือสวมใส่รองเท้าไม่เหมาะสม
โรคนี้อาจเป็นเรื้อรัง แต่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง
สาเหตุ
พังผืดที่ส้นเท้า (เอ็นฝ่าเท้า) เป็นพังผืดที่ยึดจากกระดูกส้นเท้าไปยังนิ้วเท้า ทำหน้าที่รักษารูปทรงของเท้า และเป็นตัวกันกระแทกของกระดูกเท้า ถ้าหากมีแรงกดดันต่อพังผืดนาน ๆ หรือซ้ำ ๆ ก็ทำให้เกิดการอักเสบได้
แรงกดดันอาจเกิดจากการมีน้ำหนักถ่วง (เช่น คนอ้วน ยกของหนัก) หรือเกิดจากการวิ่ง เต้นรำ เดินขึ้นบันได ผู้ที่ทำงานที่ต้องยืนหรือเดินบนพื้นแข็งหรือขรุขระนาน ๆ
นอกจากนี้ อาจมีสาเหตุอื่น ๆ เช่น กล้ามเนื้อน่องหรือเอ็นร้อยหวายขาดความยืดหยุ่น โครงสร้างเท้าผิดปกติ (ส้นเท้าแบน อุ้งเท้าโก่งเกินไป หรือส้นเท้าบิดออกด้านนอก) มีข้อเท้า ข้อเข่า หรือข้อสะโพกที่ผิดปกติ (ทำให้การเดินและการลงน้ำหนักผิดปกติ) ใช้รองเท้าที่ไม่เหมาะ (เช่น พื้นรองเท้าบาง ส้นสูง ส้นรองเท้าแข็งขาดความยืดหยุ่น)
โรคนี้ยังพบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน (ซึ่งอธิบายสาเหตุไม่ได้) และโรคข้ออักเสบ เช่น โรคปวดข้อรูมาตอยด์
ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการกำเริบโดยไม่ทราบสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่ชัดเจน
อาการ
มีลักษณะเฉพาะ คือ รู้สึกปวดตรงฝ่าเท้าตรงบริเวณส่วนท้ายใกล้กับกระดูกส้นเท้า ลักษณะปวดจี๊ดคล้ายถูกมีดปักขณะเดินลงน้ำหนัก มักจะมีอาการใน 2-3 ก้าวแรกที่ลุกขึ้นเดินหลังตื่นนอนตอนเช้า หรือหลังจากนั่งพักนาน ๆ เนื่องจากในช่วงที่เริ่มเดินลงน้ำหนักใหม่ ๆ เกิดการกระชากของเอ็นฝ่าเท้าที่อักเสบทันทีทันใด แต่หลังจากเดินต่อไปสักพัก (ราว 2-3 นาทีไปแล้ว) เอ็นฝ่าเท้าค่อย ๆ ยืดหยุ่นขึ้น อาการก็จะทุเลาไปเอง
มักจะปวดเพียงข้างเดียว อาการอาจค่อย ๆ เกิดขึ้นทีละน้อย หรือเกิดขึ้นฉับพลันก็ได้ อาจเป็นเพียงเล็กน้อยน่ารำคาญ หรือปวดรุนแรงจนเดินไม่ค่อยถนัดก็ได้
ในระยะแรกอาจเกิดอาการเป็นครั้งคราวหลังตื่นนอนตอนเช้าหรือหลังจากนั่งพักนาน ๆ แต่ถ้าอาการมากขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดส้นเท้ามากขึ้นและบ่อยขึ้นในช่วงระหว่างวัน หรือหลังจากยืนหรือเดินนาน ๆ ภายหลังเดินขึ้นบันได ยืนหรือเดินบนปลายเท้า อาการปวดจะลุกลามจากส้นเท้าไปทั่วฝ่าเท้าจนเดินไม่ถนัด หรือต้องคอยนั่งพัก
ส่วนมากจะเป็นอยู่นาน 2-3 เดือน ก็ทุเลาไปเอง บางรายอาจนานกว่านั้น อาจเป็น ๆ หาย ๆ หรือเป็นต่อเนื่องอยู่เรื่อย ๆ ตลอดไป
ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้มีอาการปวดส้นเท้าเรื้อรัง กระทบต่อการเดินและการทำกิจวัตรประจำวัน
นอกจากนี้ ลักษณะท่าทางการเดินที่เปลี่ยนไปจากปกติเพื่อลดอาการเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ อาจส่งผลให้มีอาการปวดหลัง สะโพก เข่า และน่องตามมาได้
การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการและสิ่งตรวจพบ ดังนี้
อาจพบอาการเจ็บส้นเท้าขณะให้ยืนบนปลายเท้า
เวลาใช้นิ้วกดแรง ๆ ตรงตำแหน่งที่ปวดจะรู้สึกเจ็บ
การรักษาโดยแพทย์
แพทย์จะให้การดูแลรักษา ดังนี้
1. แนะนำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าและกิจกรรมที่ทำให้โรคกำเริบ (เช่น วิ่ง เดิน หรือยืนนาน ๆ ยกของหนัก) ลดน้ำหนักตัว ประคบด้วยน้ำแข็ง วันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 15-20 นาที บริหารกล้ามเนื้อน่อง เอ็นร้อยหวาย และพังผืดส้นเท้า ให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนก ไพร็อกซิแคม นาโพรเซน) ถ้าได้ผลควรให้ยานาน 6-8 สัปดาห์
2. ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 2 สัปดาห์ หรือปวดรุนแรง หรือสงสัยว่าอาจเกิดจากสาเหตุอื่น แพทย์อาจต้องทำการเอกซเรย์หรือตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม
ถ้าไม่พบว่าเกิดจากสาเหตุอื่น แพทย์จะให้การรักษาอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น กายภาพบำบัด การบริหารยืดเหยียดเอ็นร้อยหวายและเอ็นฝ่าเท้า การใช้อุปกรณ์เสริมอุ้งเท้าด้านใน (arch support) การใช้อุปกรณ์แก้ไขภาวะผิดปกติของเท้า (เช่น รองเท้า เทปพันเท้า) การใช้เฝือกใส่เวลาเข้านอนเพื่อยืดกล้ามเนื้อน่องและพังผืดส้นเท้า
หากไม่ได้ผล แพทย์จะทำการบำบัดด้วยคลื่นกระแทก (shock wave therapy) เพื่อลดปวดและการซ่อมสร้างเนื้อเยื่อใหม่ (re-healing)
ในรายที่มีอาการปวดมาก แพทย์อาจใช้วิธีฉีดสเตียรอยด์เข้าพังผืด (ซึ่งปัจจุบันเป็นวิธีที่ไม่นิยมนัก เพราะต้องใช้เวลานานถึง 18 เดือนจึงจะหายขาด และในบางรายโรคอาจกำเริบขึ้นมาได้อีก)
การรักษาด้วยวิธีดังกล่าวข้างต้น มักจะหายได้เป็นส่วนใหญ่
มีเพียงส่วนน้อยมากที่อาจต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด และเนื่องจากการผ่าตัดอาจมีภาวะแทรกซ้อน (เช่น การติดเชื้อ การเจ็บปวดต่อเนื่อง การเกิดความรู้สึกชาและเหมือนมีเข็มตำที่ส้นเท้า และอาจส่งผลให้ฝ่าเท้าแบนถาวรได้) แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดเฉพาะในรายที่การรักษาด้วยวิธีอื่นล้มเหลว และผู้ป่วยมีอาการปวดรุนแรงเท่านั้น
การดูแลตนเอง
ถ้ามั่นใจหรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นพังผืดส้นเท้าอักเสบ ควรดูแลตนเองดังนี้
ประคบด้วยน้ำแข็ง วันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 15-20 นาที
หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าและกิจกรรมที่ทำให้โรคกำเริบ (เช่น วิ่ง เดิน หรือยืนนาน ๆ ยกของหนัก)
บริหารกล้ามเนื้อน่อง เอ็นร้อยหวาย และพังผืดส้นเท้าตามคำแนะนำของแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด
ลดน้ำหนักตัว ถ้ามีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน
ใส่รองเท้าที่มีพื้นรองเท้าที่สามารถลดแรงกระแทก และใช้อุปกรณ์เสริมอุ้งเท้าด้านใน (arch support) ตามคำแนะนำของแพทย์ และหลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงและรองเท้าที่พื้นบางหรือส้นแข็ง
ถ้าปวด กินยาแก้ปวด พาราเซตามอล* หรือยาที่แพทย์แนะนำ
ควรปรึกษาแพทย์ ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
มีอาการปวดมาก หรือเดินลำบาก
ดูแลตนเอง 1 สัปดาห์แล้วไม่ทุเลา
มีประวัติการแพ้ยา เป็นสตรีที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร หรือผู้มีโรคตับ โรคไต หรือโรคประจำตัวอื่น ๆ ที่มีการใช้ยาหรือแพทย์นัดติดตามการรักษาอยู่เป็นประจำ
หลังกินยาแล้วสงสัยเกิดผลข้างเคียงจากยา มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ
มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลตนเอง
*เพื่อความปลอดภัย ควรขอคำแนะนำวิธีและขนาดยาที่ใช้ ผลข้างเคียงของยา และข้อควรระวังในการใช้ยา จากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ โดยเฉพาะการใช้ยาในเด็ก สตรีที่ตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวหรือมีการใช้ยาบางชนิดที่แพทย์สั่งใช้อยู่เป็นประจำ
การป้องกัน
โรคนี้อาจป้องกันได้ด้วยการปฏิบัติตัวดังนี้
ลดน้ำหนัก ถ้ามีภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วน
อย่าเดินเท้าเปล่าบนพื้นที่แข็ง
เลือกสวมใส่รองเท้าที่พื้นหนาแต่มีความยืดหยุ่นสามารถรองรับแรงกระแทกได้ดี และหลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง
เวลาเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย ควรทำการอบอุ่นร่างกายก่อน และอย่าใส่รองเท้ากีฬาที่เสื่อมสภาพ
ก่อนลุกจากเตียงหลังตื่นนอน ควรทำการบริหารยืดพังผืดส้นเท้า โดยการจับนิ้วเท้าเหยียดขึ้น
ถ้ามีโครงสร้างเท้าผิดปกติ (ส้นเท้าแบน อุ้งเท้าโก่งเกินไป หรือส้นเท้าบิดออกด้านนอก) ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตัดรองเท้าพิเศษให้เข้ากับรูปเท้า
ข้อแนะนำ
1. อาการปวดส้นเท้าอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น กระดูกส้นเท้าแตก (จากการบาดเจ็บ) รากประสาทถูกกดทับ โรคข้ออักเสบเรื้อรังอื่น ๆ รวมทั้งกระดูกส้นเท้างอก ดังนั้นถ้ารักษาโรคพังผืดส้นเท้าอักเสบแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์ก็จะทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ
2. การเอกซเรย์ส้นเท้าอาจพบกระดูกส้นเท้างอก (heel spur) พบเป็นผลึกหินปูนงอกออกมาจากกระดูกส้นเท้า ภาวะนี้ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการและอันตรายใด ๆ อาจมีอาการปวดถ้ามีการอักเสบซึ่งพบได้เป็นครั้งคราว ภาวะนี้มีสาเหตุและการรักษาแบบเดียวกับพังผืดส้นเท้าอักเสบ