มะเร็ง* เป็นเนื้องอกชนิดร้ายที่กลายมาจากเนื้อเยื่อปกติของร่างกาย มีการเจริญเติบโตและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว อยู่เหนือการควบคุมของร่างกาย และทำลายอวัยวะต่าง ๆ เกิดอาการเจ็บป่วยและภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงต่าง ๆ
เซลล์และเนื้อเยื่อแทบทุกส่วนของร่างกายอาจกลายเป็นมะเร็งได้ แต่ที่พบบ่อย ได้แก่ ตับ ปอด เต้านม ลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ปากมดลูก ต่อมลูกหมาก ต่อมน้ำเหลือง กระเพาะปัสสาวะ ช่องปาก เม็ดเลือดขาว เยื่อบุมดลูก รังไข่ กระเพาะอาหาร ไทรอยด์ หลอดอาหาร ตับอ่อน สมอง โพรงหลังจมูก ไต ถุงน้ำดี กล่องเสียง**
ส่วนใหญ่พบในคนอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป แต่ก็อาจพบในเด็ก และคนหนุ่มสาวได้
ในปัจจุบันมะเร็งเป็นสาเหตุการตายในอันดับแรก ๆ ของคนไทย
*มีชื่อเรียกอื่น ได้แก่ เนื้อร้าย เนื้องอกชนิดร้าย carcinoma, malignant tumor
**จากรายงาน Globocan2020 ขององค์การอนามัยโลก (
https://gco.iarc.fr/today/data/factsheets/populations/764-thailand-fact-sheets.pdf) ปี 2563 ในประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ 190,636 ราย (ชาย 93,425 ราย, หญิง 97,211 ราย) มีผู้ที่ตายด้วยโรคมะเร็ง 124,886 ราย (ชาย 68,087 ราย, หญิง 56,779 ราย)
มะเร็งที่พบบ่อย 10 อันดับแรก (นับรวมกันเป็นร้อยละ 69.8 ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด) ได้แก่ มะเร็งตับ (ร้อยละ 14.4), มะเร็งปอด (ร้อยละ 12.4), มะเร็งเต้านม (ร้อยละ 11.6), มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง (ร้อยละ 10.9), มะเร็งปากมดลูก (ร้อยละ 4.
, มะเร็งต่อมลูกหมาก (ร้อยละ 4.5), มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (ร้อยละ 3.7), มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (ร้อยละ 2.6), มะเร็งช่องปาก (ร้อยละ 2.5), มะเร็งเม็ดเลือดขาว (ร้อยละ 2.4)
มะเร็งที่พบบ่อย 5 อันดับแรกในผู้ชาย (นับรวมกันเป็นมากกว่า ร้อยละ 60 ของผู้ป่วยมะเร็งในผู้ชายทั้งหมด) ได้แก่ มะเร็งตับ (ร้อยละ 19.6), มะเร็งปอด (ร้อยละ 16.5), มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง (ร้อยละ 11.4), มะเร็งต่อมลูกหมาก (ร้อยละ 9.2), มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (ร้อยละ 4)
มะเร็งที่พบบ่อย 5 อันดับแรกในผู้หญิง (นับรวมกันเป็นมากกว่า ร้อยละ 60 ของผู้ป่วยมะเร็งในผู้หญิงทั้งหมด) ได้แก่ มะเร็งเต้านม (ร้อยละ 22.
, มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง (ร้อยละ 10.7), มะเร็งปากมดลูก (ร้อยละ 9.4), มะเร็งตับ (ร้อยละ 9.4) มะเร็งปอด (ร้อยละ 8.5)
สาเหตุ
เซลล์มะเร็ง คือ เซลล์ปกติของเนื้อเยื่อในร่างกายที่มีความผิดปกติเกิดขึ้นกับสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ในเซลล์ ทำให้กลายพันธุ์เป็นเซลล์ที่มีการแบ่งตัวและแพร่กระจายได้รวดเร็ว
สาเหตุของการเกิดเซลล์มะเร็งยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าเป็นความผิดปกติที่ถ่ายทอดมาจากบิดามารดามาแต่กำเนิด หรือเกิดขึ้นภายหลังจากการได้รับสารก่อมะเร็งหรือสิ่งระคายเคืองเรื้อรัง เกิดการกลายพันธุ์ทีละน้อย จนในที่สุดกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งอาจใช้เวลานานนับสิบ ๆ ปี นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ทำหน้าที่คอยตรวจสอบและกำจัดเซลล์มะเร็งที่ก่อตัวขึ้น ซึ่งหากบกพร่องก็จะปล่อยให้เซลล์มะเร็งไม่ถูกกำจัดและแบ่งตัวเจริญเติบโตเป็นก้อนมะเร็งในที่สุด
ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง* สามารถแบ่งเป็น 2 พวกใหญ่ ๆ ดังนี้
1. ปัจจัยภายในร่างกาย เช่น
ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หากบกพร่อง (เช่น อายุมาก ป่วยเป็นเอดส์) ก็มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็ง
เชื้อชาติ เช่น ชาวญี่ปุ่นเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมาก ชาวจีนเป็นมะเร็งโพรงหลังจมูก และหลอดอาหารมาก
เพศ มะเร็งตับ มะเร็งปอด พบมากในผู้ชาย มะเร็งของเต้านม มะเร็งไทรอยด์ พบมากในผู้หญิง
อายุ มะเร็งส่วนใหญ่เกิดในวัยกลางคนและวัยสูงอายุ แต่บางชนิด เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งสมองบางชนิด มะเร็งลูกตาในเด็ก มะเร็งไตชนิดเนื้องอกวิล์มส์ พบมากในเด็ก มะเร็งกระดูกพบในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว
กรรมพันธุ์ มะเร็งเต้านมบางชนิด มะเร็งต่อมไทรอยด์บางชนิด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับอ่อน มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งรังไข่ มะเร็งผิวหนัง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งอัณฑะ มะเร็งลูกตาในเด็ก พบว่ามีความสัมพันธ์กับกรรมพันธุ์ คือมักมีประวัติว่ามีพ่อแม่พี่น้องเป็นมะเร็งชนิดเดียวกันด้วย
โรคมะเร็ง (Cancer) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/