โรคมะเร็ง เป็นโรคที่เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเพศหญิงที่ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลง ค่อนข้างมากและเด่นชัดในแต่ละช่วงวัย อีกทั้งอวัยวะภายในก็มีความซับซ้อนและต้องได้รับการดูแลมากกว่าเพศชาย ซึ่งอาการบางอย่าง เช่น ปวดท้อง ที่ผู้หญิงมักเป็นตอนมีประจำเดือนอยู่แล้ว จึงอาจทำให้คิดไม่ถึงว่า อาการปวดท้องที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งอย่างหนึ่ง
ต้องหมั่นสังเกต…ก่อนเกิดโรค
หลายคนมักคิดว่า “กว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคมะเร็ง ก็ต้องเข้าสู่ระยะร้ายแรงและรักษายากแล้ว” ซึ่งไม่จริงเสมอไป! เพราะหากเราหมั่นสังเกตและดูแลร่างกายตัวเองเป็นอย่างดี ทันทีที่พบความผิดปกติหรือมีอาการน่าสงสัยแล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจ วินิจฉัย ก็จะทำให้สามารถพบรอยโรคในระยะแรกๆ ได้ ซึ่งโอกาสในการรักษาหายก็จะสูงตามไปด้วย
มะเร็งชนิดใด และอาการใดบ้างที่เป็นสัญญาณเตือนโรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิง
1. มะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านม ยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของมะเร็งในสตรี อาจเป็นเพราะส่วนใหญ่ในระยะแรกๆ จะไม่แสดงอาการใดๆ จนกว่าจะตรวจพบด้วยแมมโมแกรม แต่คุณผู้หญิงอาจสังเกตความผิดปกติต่างๆ ได้ด้วยตัวเองก่อน เช่น
คลำพบก้อนบริเวณเต้านม หรือใต้รักแร้
เต้านมมีขนาดหรือรูปร่างเปลี่ยนไป
ระคายเคืองบริเวณผิวหน้าอก มีผื่นคันบริเวณเต้านม
ผิวหนังที่เต้านมบุ๋มลงไปคล้ายลักยิ้ม
มีแผลที่บริเวณหัวนม
มีอาการเจ็บที่เต้านม แม้ไม่ใช่ช่วงที่มีประจำเดือน
มีของเหลวที่ไม่ใช่น้ำนมไหลออกจากหัวนม
2. มะเร็งลำไส้ใหญ่
อาจไม่ค่อยมีใครทราบว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงเช่นกัน อาการของโรคในระยะเริ่มต้นอาจยังไม่แสดงอาการ แต่จะมีความผิดปกติเมื่อโรคพัฒนาขึ้น ดังนี้
ขับถ่ายผิดปกติ ท้องเสียสลับท้องผูก หรือท้องอืดบ่อยๆ
ลักษณะอุจจาระเรียวยาวกว่าปกติ
อุจจาระปนเลือดสดๆ หรือเลือดสีคล้ำมาก
อ่อนเพลียหรืออ่อนแรง น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
มีอาการจุกเสียด แน่น หรือปวดท้องบ่อยๆ
รู้สึกคลื่นไส้ อยากอาเจียน
ปวดเบ่งบริเวณทวารหนักคล้ายปวดอุจจาระตลอดเวลา
มีภาวะโลหิตจาง
3. มะเร็งตับ
มะเร็งตับในระยะเริ่มแรกมักไม่มีอาการแสดง ต่อเมื่อโรคลุกลามหรือเป็นหนักขึ้นผู้ป่วยจึงสังเกตได้ ทั้งนี้คนที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบี หรือมีตับแข็งจากทุกสาเหตุ ควรตรวจคัดกรองแม้ยังไม่มีอาการใดๆ แต่อาการที่พอจะสังเกตได้คือ
ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณใต้ชายโครงขวา หรือบริเวณลิ้นปี่
ท้องบวมโตขึ้น มีน้ำในช่องท้อง
น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
รู้สึกอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
มีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ
คลำพบก้อนที่บริเวณตับ
ตัวเหลืองและตาเหลือง
อาเจียนเป็นเลือด
4. มะเร็งปากมดลูก
ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดฮิวแมนแปปปิโลมาไวรัส (Human Papillomavirus) หรือเอชพีวี (HPV) มะเร็งปากมดลูกเป็นอีกหนึ่งโรคมะเร็งที่พบมาก สามารถติดต่อได้หลายช่องทาง แม้ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ก็สามารถติดเชื้อได้ มะเร็งปากมดลูกถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้หญิง ฉะนั้นหากมีอาการผิดปกติดังนี้ ควรรีบพบแพทย์
มีเลือดไหลออกจากช่องอย่างผิดปกติ อาจมีเลือดออกหลังระยะที่เพิ่งหมดประจำเดือน หรือมีเลือดออกในผู้ที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนแล้ว
มีประจำเดือนมาก หรือนานกว่าปกติ
มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
มีของเหลวออกทางช่องคลอด หรือตกขาวที่มีลักษณะเป็นน้ำและข้น มีเลือดปน
ปวดท้องน้อย หรือปวดท้องบริเวณอุ้งเชิงกรานที่ไม่ใช่ปวดประจำเดือน
5. มะเร็งปอด
หลายคนคงคาดไม่ถึงว่า “มะเร็งปอด” จะเป็นโรคมะเร็งที่พบในผู้หญิงมากจนติดอันดับเช่นกัน ที่สำคัญยังเป็นโรคที่มีความรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูงมากทีเดียว อาการของโรคจะเริ่มปรากฏเมื่อมะเร็งเข้าสู่ระยะที่ 3-4 แล้ว
มีอาการหอบ เหนื่อย
หายใจผิดปกติ หายใจสั้น หายใจมีเสียงหวีด
ไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะปนเลือด
เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอกตลอดเวลา
เสียงแหบ เสียงเปลี่ยน
น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
6. มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมีย
เป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งของระบบเลือดที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวในไขกระดูกเติบโตผิดปกติ ส่งผลให้การทำงานของระบบเม็ดเลือดเสียไป อาการที่แสดงออกจะขึ้นอยู่กับชนิดของโรคด้วย
รู้สึกเบื่ออาหาร น้ำหนักลด
มีภาวะซีด อ่อนเพลียง่าย
มีเลือดออกง่าย เพราะมะเร็งเม็ดเลือดขาวจะมีเกล็ดเลือดต่ำ
มีไข้ หนาวสั่น
เหงื่ออกมากตอนกลางคืน
มีรอยฟกช้ำได้ง่าย
ปวดกระดูกและข้อ
ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติ เป็นโรคติดเชื้อได้ง่าย
จะเห็นได้ว่ามะเร็งในแต่ละอวัยวะนั้น มักไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น ดังนั้นสาวๆ จึงไม่ควรชะล่าใจว่าตนเองยังปลอดภัยจากโรคมะเร็ง ควรให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพและ “การตรวจคัดกรองมะเร็ง” ที่สำคัญอีกอย่าง คือการหมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกายของตัวเองอยู่เสมอ หากพบความผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อยก็ควรรีบพบแพทย์
อาการบ่งชี้และสัญญาณเตือนโรคมะเร็ง ที่ผู้หญิงควรสังเกต อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/