เครื่องสูบน้ำดับเพลิง หรือ Fire Pump เป็นส่วนประกอบหลักของระบบดับเพลิงด้วยน้ำ (Fire Pump System) เนื่องจากทำหน้าที่ส่งน้ำเข้าระบบท่อดับเพลิง โดยจะเดินท่อจากเครื่องไปยังจุดต่าง ๆ ในอาคาร เช่นต่อเข้ากับสปริงเกอร์หรือจุดจ่ายน้ำดับเพลิงตามพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยอัตราการไหลและแรงดันที่เพียงพอต่อการจ่ายน้ำในกรณีที่เกิดอัคคีภัย เครื่องสูบน้ำดับเพลิงจะมีระบบการขับเคลื่อน 2 แบบ คือชนิดขับด้วยเครื่องยนต์ดีเซลและชนิดขับด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งการติดตั้งจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล เช่น มาตรฐาน NFPA 20
เครื่องสูบน้ำดับเพลิงชนิดขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (Electric-Driven Fire Pump)
การออกแบบและการบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำดับเพลิงชนิดมอเตอร์ไฟฟ้าทำได้ง่ายกว่าชนิดเครื่องยนต์ เนื่องจากไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงจากภายนอก เพียงแค่มีกำลังไฟฟ้าก็สามารถทำงานได้ทันทีต่างจากชนิดที่ขับด้วยเครื่องยนต์ดีเซลที่ต้องใช้เวลาสตาร์ท ชนิดมอเตอร์ไฟฟ้าไม่ต้องมีการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงทำให้ระบบสะอาดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น พลังงานไฟฟ้าสามารถวิ่งผ่านอาคารได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในอาคารสูงที่มีโซนแรงดันหลายจุด การรับพลังงานนั้นง่ายกว่าการรับน้ำมันดีเซล
หลักสำคัญคือจะต้องใช้กำลังไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไฟที่เชื่อถือได้เพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องจะสามารถใช้งานได้ทั้งในสภาวะปกติและฉุกเฉิน เช่น จ่ายโดยตรงจากหม้อแปลงไฟฟ้าหรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้า นอกจากนี้มาตรฐาน NFPA 20 ยังกำหนดให้มอเตอร์ไฟฟ้าต้องต่อกับแหล่งไฟฟ้าสำรองด้วย (ยกเว้นในกรณีที่มีเครื่องสูบน้ำดับเพลิงแบบขับเคลื่อนด้วยดีเซลสำรอง) เพื่อให้สามารถจ่ายไฟได้ในกรณีที่ไฟฟ้าหลักของอาคารดับในขณะเกิดอัคคีภัยและสภาวะฉุกเฉินอื่นๆ รวมถึงในอาคารที่มีขนาดสูงเกินกำลังของเครื่องสูบ โดยจะต้องมีสวิตช์ควบคุมการสลับแหล่งพลังงาน โดยจะสลับไปใช้ไฟสำรองโดยอัตโนมัติเมื่อตรวจจับได้ว่าสูญเสียพลังงานจากไฟฟ้าหลัก
แหล่งไฟฟ้าสำรองนี้ถือเป็นเหตุฉุกเฉิน ควรใช้งานได้ภายใน 10 วินาทีหลังจากสูญเสียพลังงานตามปกติ และจะต้องใช้งานได้อย่างน้อย 8 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังต้องทำงานด้วยกระแสไฟที่มากถึงหกเท่าของกระแสโหลดเต็ม หากเครื่องกำเนิดไฟฟ้ามีขนาดรองรับเฉพาะโหลดเต็ม จะถือว่าไม่มีพลังงานเพียงพอที่จะขับเคลื่อนปั๊มเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนด NFPA 20 เนื่องจากปั๊มส่วนใหญ่มีกำลังสูง (ประมาณ 150 ถึง 250 แรงม้า) จึงต้องมีการควบคุมให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้ามีขนาดเพื่อรองรับโหลดเริ่มต้นที่จำเป็น ไม่ใช่แค่โหลดที่ทำงานอยู่
เครื่องสูบน้ำดับเพลิงชนิดขับเคลื่อนด้วยดีเซล (Diesel-Driven Fire Pump)
เครื่องสูบน้ำดับเพลิงชนิดขับเคลื่อนด้วยดีเซลมีความน่าเชื่อถือสูง สามารถทำงานได้แม้ไม่มีไฟฟ้า เนื่องจากขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้ จะมีการตัดไฟฟ้าเพื่อเป็นการป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร ดังนั้น เมื่อไฟดับ เครื่องสูบน้ำดับเพลิงชนิดขับเคลื่อนด้วยดีเซลจะสามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง โดยใช้ไฟจากแบตเตอรี่ 2 ชุด
อย่างไรก็ตามชนิดเครื่องยนต์ต้องการการดูแลมากกว่าเนื่องจากมีอุปกรณ์หลายชิ้นและมีการเสื่อมที่เร็วกว่าชนิดมอเตอร์ไฟฟ้า และเนื่องจากถังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถติดไฟได้ง่ายจึงต้องเก็บไว้ในห้องเครื่องหรือใกล้ ๆ กับห้องเครื่อง เครื่องสูบน้ำดับเพลิงแบบเครื่องยนต์ยังต้องมีการระบายอากาศจากท่อไอเสียที่เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์และต้องตรวจเช็คเชื้อเพลิงที่ใช้ระหว่างการทำงานให้เพียงพออยู่เสมอ รวมถึงต้องมีการทดสอบการทำงานบ่อยครั้ง ทำให้การวางเครื่องสูบน้ำดับเพลิงชนิดดีเซลไว้ภายในอาคารเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเครื่องสูบน้ำดับเพลิงได้ถูกออกแบบให้ติดตั้งไว้ภายในอาคารเนื่องจากข้อกำหนดของระดับแรงดัน
เครื่องสูบน้ำดับเพลิงชนิดดีเซลจึงเหมาะสำหรับติดตั้งที่ชั้นล่างของอาคารใกล้กับผนังด้านนอกหรือในห้องเครื่องแยกต่างหากเพื่อรองรับการเติมเชื้อเพลิงและการระบายอากาศของไอเสียจากการเผาไหม้ การออกแบบให้ติดตั้งไว้ภายในอาคารหรือในโซนกลางหรือโซนสูงของอาคารสูงจะทำได้ยาก
(*ในอาคารสูงอาจจะต้องมีการแบ่งระบบท่อส่งน้ำดับเพลิงเป็น 2-3 ส่วน คือ โซนบน (High Zone) โซนล่าง (Low Zone) และโซนกลาง (Middle Zone) ในบางอาคารเพื่อควบคุมความดันน้ำดับเพลิงให้อยู่ในช่วงที่ต้องการ ไม่ให้ต่ำหรือสูงเกินไป)
เครื่องสูบน้ำดับเพลิงชนิดไหนได้รับความนิยมมากกว่ากัน?
ถ้าจะให้ตัดสินว่าเครื่องสูบน้ำดับเพลิงแบบไหนดีกว่ากันคงตอบได้ยาก เนื่องจากทั้งสองชนิดมีข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน จึงขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ใช้งานมากกว่า อย่างไรก็ตาม เราจะพบว่าอาคารและโรงงานส่วนใหญ่ในประเทศไทยนิยมใช้เครื่องสูบน้ำดับเพลิงชนิดเครื่องยนต์มากกว่าแบบมอเตอร์ เนื่องจากความสะดวกเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ อย่างที่อธิบายข้างต้นว่าในสภาวะฉุกเฉินไฟไหม้จะต้องมีการตัดไฟฟ้าภายในอาคารเพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร เครื่องสูบน้ำดับเพลิงชนิดมอเตอร์จะต้องพึ่งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Generator) เพื่อให้สามารถทำงานได้ ในขณะที่ชนิดเครื่องยนต์จะสามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องหาซื้อ Generator จึงเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับอาคารไปโดยปริยาย โครงการส่วนใหญ่ที่มีงบจำกัดจึงเลือกใช้ปั๊มน้ำดับเพลิงชนิดเครื่องยนต์มากกว่า
บริหารจัดการอาคาร: เครื่องสูบน้ำดับเพลิงขับด้วยมอเตอร์ไฟฟ้ากับเครื่องยนต์ต่างกันอย่างไร อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://snss.co.th/dt_post/technical-services/