การวินิจฉัยโรคเบาหวานอาศัยการตรวจเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาลในเลือดเป็นหลัก ซึ่งสำหรับผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปสามารถเข้ารับบริการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานด้วยการเจาะเลือดจากสถานพยาบาล ร่วมกับการสอบถามอาการ ประวัติการเจ็บป่วยของผู้ป่วยและบุคคลในครอบครัว และการตรวจร่างกาย
ทั้งนี้ การตรวจเลือดสามารถทำได้หลายวิธีตามหลักเกณฑ์ต่อนี้
การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเวลาใดก็ได้ เมื่อผู้ป่วยมีอาการของโรคเบาหวานตามที่กล่าวมาอย่างชัดเจน และตรวจเลือดเวลาใดก็ได้ โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องอดอาหาร หากมีระดับน้ำตาลในเลือดตั้งแต่ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป แสดงว่าเป็นโรคเบาหวาน
การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ผู้ป่วยต้องงดรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่ให้พลังงานอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนทำการตรวจ โดยมักตรวจในตอนเช้า หากตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดตั้งแต่ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป แสดงว่าเป็นโรคเบาหวาน
การตรวจน้ำตาลเฉลี่ยสะสม หรือฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี เป็นการตรวจเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาลในเลือดว่าผู้ป่วยสามารถควบคุมปริมาณได้ดีมากน้อยแค่ไหน เมื่อฮีโมโกลบินทำปฏิกิริยากับน้ำตาลในเลือดจึงทำให้เกิดฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี ขึ้น หากระดับน้ำตาลในเลือดมากก็จะพบฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี มากเช่นกัน ซึ่งค่าที่ได้หากพบตั้งแต่ 6.5% ขึ้นไป แสดงว่าผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน
การทดสอบการตอบสนองของฮอร์โมนอินซูลินต่อระดับน้ำตาลในเลือด (Oral Glucose Tolerance Test: OGTT) เป็นการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด 2 ชั่วโมงหลังการดื่มน้ำที่มีน้ำตาลกลูโคสละลายอยู่ 75 กรัม หากพบระดับน้ำตาลในเลือดตั้งแต่ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตรขึ้นไป แสดงว่าเป็นโรคเบาหวาน
หากผู้ป่วยไม่มีอาการของโรคเบาหวานชัดเจน การตรวจด้วยวิธีทั้งหมดข้างต้นจำเป็นต้องมีการตรวจซ้ำอย่างน้อย 1 ครั้งด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งเพื่อยืนยันผลการวินิจฉัย ทั้งนี้ การวินิจฉัยที่กล่าวมานี้ใช้สำหรับการวินิจฉัยโรคเบาหวานประเภทที่ 1 และ 2 เป็นหลัก เนื่องจากการตรวจโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะมีเกณฑ์และรายละเอียดในการวินิจฉัยที่แตกต่างกันออกไป
นอกจากนี้ ระดับน้ำตาลในเลือดยังสามารถบ่งบอกว่าผู้ป่วยมีภาวะก่อนเป็นเบาหวาน (Prediabetis) หรือไม่ โดยดูจากปริมาณน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐาน แต่ยังไม่สูงถึงเกณฑ์ที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งผู้ที่อยู่ในภาวะก่อนเป็นเบาหวานสามารถพัฒนาการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดในสมองในอนาคตได้ง่ายขึ้น
อาการของโรคเบาหวาน โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus)
โรคเบาหวานในระยะแรกส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการผิดปกติ ในบางรายอาจตรวจพบโรคเบาหวานเมื่อเป็นมานานโดยไม่รู้ตัวและเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นแล้ว ซึ่งโรคเบาหวานประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 มักมีอาการที่คล้ายกันมาก
โดยผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 1 มักมีอาการแบบเฉียบพลัน อาการจะมีความรุนแรงมากหากขาดอินซูลิน อาจทำให้เกิดการคั่งของสารคีโตน (Ketones) ซึ่งเป็นพิษต่อระบบประสาท ทำให้ผู้ป่วยหมดสติถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่ผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 จะมีลักษณะอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป
สัญญาณบ่งบอกของโรคเบาหวานประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 มักพบได้จากอาการเหล่านี้
ปัสสาวะบ่อยและมีปริมาณมาก เมื่อฮอร์โมนอินซูลินที่ตับอ่อนผลิตได้ไม่เพียงพอหรือไม่สามารถผลิตได้ ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้นกว่าเกณฑ์ปกติ และไตไม่สามารถกรองน้ำตาลส่วนเกินกลับเข้าสู่เลือด จึงปล่อยออกมาพร้อมน้ำกลายเป็นปัสสาวะ ทำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานปัสสาวะบ่อยและมีปริมาณมาก
กระหายน้ำ เนื่องจากการสูญเสียน้ำจากการปัสสาวะบ่อยครั้ง ร่างกายจึงจำเป็นต้องชดเชยน้ำที่เสียไป ทำให้มีความกระหายน้ำ อยากดื่มน้ำมากกว่าปกติ
หิวบ่อย เมื่อฮอร์โมนอินซูลินในเลือดทำงานไม่ปกติหรือร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้เซลล์ไม่ได้รับพลังงาน ร่างกายจึงพยายามหาแหล่งอาหารมากขึ้นโดยส่งสัญญาณออกมาด้วยอาการหิว
น้ำหนักลดลงผิดปกติ เนื่องจากการขาดฮอร์โมนอินซูลินหรือมีไม่เพียงพอ ทำให้เซลล์ไม่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลเป็นพลังงานเพื่อให้ร่างกายนำไปใช้ได้ รวมทั้งยังไปสลายเอาโปรตีนและไขมันมาใช้แทน
เหนื่อยง่าย เมื่อน้ำตาลไม่สามารถเข้าสู่เซลล์เพื่อเผาผลาญเป็นพลังงานได้ ผู้ป่วยจึงเหนื่อยง่าย รู้สึกอ่อนเพลีย
สายตาพร่ามัว เห็นภาพไม่ชัด เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เกิดการคั่งของน้ำตาลในเลนส์ตาจนจอตาเกิดอาการผิดปกติ หรือมีระดับน้ำตาลสูงมาเป็นเวลานานจนเกิดความผิดปกติของจอตา ในบางรายที่อาการรุนแรงอาจมีปัญหาสายตาระยะยาวถึงขั้นตาบอด
การวินิจฉัยโรคเบาหวาน โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus) อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/