ปัญหาที่หลายๆ บ้านพบเจอเป็นประจำคือปัญหาไฟตกบ่อย ซึ่งการเมื่อเกิดไฟตกบ่อยๆ นั้นจะส่งผลเสียต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกประเภทที่เปิดใช้งานอยู่ ซึ่งอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีความเสี่ยงจะเกิดความเสียหายจากการเกิดไฟตกบ่อยได้แก่ คอมพิวเตอร์ เครื่องปรับอากาศ ปั๊มน้ำ เป็นต้น ในบทความนี้จะมาให้รายละเอียดว่าสาเหตุของการไฟตกนั้นคืออะไร รวมไปถึงวิธีการแก้ปัญหาเมื่อเกิดไฟตก
1. ไฟตกคืออะไร
ไฟตกคือการที่แรงดันไฟฟ้าลดต่ำลง หรือแรงดันไฟฟ้าไม่สม่ำเสมอผิดไปจากปกติในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่ไม่ถึงกับไฟดับ โดยแรงดันไฟฟ้าตามปกติของประเทศไทยคือ 220 โวลต์ แต่เมื่อไฟตกแรงดันไฟฟ้าจะลดลงเหลือประมาณ 180 – 200 โวลต์ ทำให้การจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าทำได้ไม่เต็มที่นั่นเอง
ไฟตก
2. สาเหตุของการเกิดไฟตกจากพฤติกรรมการใช้ไฟภายในบ้าน
ไฟตกนั้นเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ ซึ่งต้นเหตุนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากทั้งปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก สาเหตุของไฟตกที่เกิดจากปัจจัยภายใน หรือพฤติกรรมการใช้ไฟของผู้พักอาศัยในบ้านได้แก่
เปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมากพร้อมกันหลายเครื่อง โดยอุปกรณ์ไฟฟ้าที่กินไฟมากได้แก่ เครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า เตารีดไฟฟ้า เตาไฟฟ้า หม้อหุงข้าว เครื่องเป่าผม ไมโครเวฟ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ที่ใช้มอเตอร์รอบสูงในการทำงานอย่างเช่นสว่านไฟฟ้า เครื่องปั้มน้ำ เป็นต้น ถ้ามีการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านี้พร้อมๆ กันก็จะมีโอกาสทำให้เกิดปัญหาไฟตกได้
3. สาเหตุของไฟตกจากปัจจัยภายนอก
นอกจากการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมากพร้อมๆ กันแล้ว ไฟตกยังสามารถเกิดจากปัจจัยภายนอกได้อีก ไม่ว่าจะเป็นการที่ในบริเวณที่อยู่อาศัยของเรานั้นมีบ้านใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการแย่งใช้ไฟฟ้า ซึ่งการแย่งใช้ไฟฟ้านั้นทำแรงดันไฟฟ้าที่ส่งมายังบ้านของเราอ่อนกำลังลงนั่นเอง
นอกจากการแย่งกันใช้ไฟฟ้าแล้ว สาเหตุของไฟตกที่เกิดจากปัจจัยภายนอกก็มีสาเหตุอื่นๆ อีกอย่างเช่น การอยู่ไกลจากแหล่งจ่ายไฟหลักอย่างเช่นสถานีจ่ายไฟ ซึ่งเมื่ออยู่ไกลจากแหล่งจ่ายพลังงาน แรงดันไฟฟ้าที่มาตามสายไฟฟ้ากว่าจะเข้ามาถึงที่พักอาศัยก็จะมีการตกลงได้ นอกจากนี้ไฟตกยังเกิดขึ้นจากแรงดันไฟฟ้าถูกรบกวนจากปัจจัยต่างๆ อย่างเช่นฝนตก ฟ้าผ่า พายุ ได้อีกด้วย
4. ไฟตกจากไฟรั่ว
แต่ถ้าบ้านไม่มีความเสี่ยงจากสาเหตุของไฟตกด้วยปัจจัยอื่นๆ แต่ยังมีอาการไฟตกเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ซึ่งสาเหตุของไฟตกนั้นอาจจะเกิดขึ้นจากการชำรุดของสายไฟต่างๆ ภายในบ้าน ซึ่งการชำรุดนั้นจะทำให้เกิดไฟรั่วเล็กน้อยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการรั่วในลักษณะนี้อาจจะยังไม่ถึงขั้นที่ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรเนื่องจากยังไม่มีอะไรไปสัมผัสในจุดที่มีไฟรั่ว หรือยังสะสมความร้อนไม่เพียงพอ แต่จะทำให้เกิดการสูญเสียแรงดันไฟฟ้าตลอดเวลาทำให้เกิดปัญหาไฟตกนั่นเอง
5. วิธีการสังเกตไฟตกเบื้องต้น
การสังเกตว่าแรงดันไฟฟ้าภายในบ้านตกลงหรือไม่สามารถสังเกตได้เมื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ภายในบ้านมีอาการดังต่อไปนี้
หลอดไฟเปิดติดยากขึ้น หรือเมื่อเปิดแล้วมีการกระพริบบ่อยๆ รวมไปถึงเมื่อเปิดติดแล้วให้แสงสว่างที่น้อยลงกว่าปกติ
พัดลมหมุนช้าลง ถ้าพัดลมที่เปิดตามปกติมีการหมุนช้าลงอย่างชัดเจนให้แน่ใจได้เลยว่าตอนนี้มีปัญหาไฟตกในบ้าน
เครื่องปรับอากาศไม่ทำงาน อาการของเครื่องปรับอากาศที่ไม่ทำงานเมื่อความดันไฟฟ้าตกลงก็คือ เปิด – ปิด ได้ตามปกติมีไฟแสดงสถานะต่างๆ แต่ไม่มีการทำความเย็น ลมไม่ออก ซึ่งเกิดจากมอเตอร์ หรือวงจรต่างๆ ไม่มีไฟเพียงพอนั่นเอง
ปั๊มน้ำไม่ทำงาน ปั๊มน้ำคือหนึ่งในเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่ทำงานด้วยมอเตอร์ในรอบที่สูง ดังนั้นเมื่อเกิดการไฟตกมอเตอร์ของเครื่องปั้มน้ำจะไม่มีแรงดันไฟฟ้าที่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถทำงานได้นั่นเอง
6. เครื่องใช้ไฟฟ้ากับปัญหาไฟตก
อย่าประมาทว่าการที่เกิดไฟตกจะไม่สร้างความเสียหายให้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ภายในบ้าน ถึงแม้ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าในปัจจุบันจะมีการออกแบบมาให้วงจรต่างๆ สามารถรองรับได้เมื่อการไฟตก แต่อุปกรณ์บางอย่างก็ยังคงมีความเสี่ยงสูงอยู่ดี โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ใช้มอเตอร์ในการทำงาน อย่างเช่น พัดลม ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ปั้มน้ำ เพราะเมื่อแรงดันไฟไม่พอที่จะทำให้มอเตอร์หมุนจะทำให้เกิดความร้อนสะสมในปริมาณมาก และจะทำให้เกิดไฟไหม้อุปกรณ์เหล่านั้นได้
อุปกรณ์อีกหนึ่งกลุ่มที่จะเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงได้เมื่อเกิดไฟตกนั่นคืออุปกรณ์ที่มีการใช้วงจรอิเล็กทรอนิกส์ซับซ้อน อย่างเช่นอุปกรณ์เครื่องเสียง แอมป์ เครื่องมือแพทย์ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้วงจรภายในมีความเปราะบางเพราะเป็นอุปกรณ์ที่มีความละเอียดสูง ดังนั้นเมื่อเกิดไฟตกต้องรีบปิดการใช้งาน และถอดปลั๊กออกทันที
7. การแก้ไขปัญหาไฟตกเบื้องต้นด้วยตัวเอง
เมื่อเกิดไฟตกในบ้านวิธีการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นด้วยตัวเองวิธีแรกคือการปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีอัตราการกินไฟมากให้หมด แล้วดูว่าแรงดันไฟกลับมาเป็นปกติหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเกิดไฟตกหลอดไฟจะสว่างน้อยลง ให้ปิดเครื่องปรับอากาศ ถอดปลั๊กตู้เย็น ถอดปลั๊กปั้มน้ำ แล้วสังเกตที่หลอดไฟว่ากลับมาสว่างเหมือนเดิมหรือไม่ ถ้ากลับมาสว่างเหมือนเดิมให้ลองเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ทีละชนิด แล้วดูว่าการเกิดไฟตกนั้นมาจากเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดไหน
8. การแก้ปัญหาด้วยอุปกรณ์ควบคุมแรงดันไฟฟ้า
อุปกรณ์ควบคุมแรงดันไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ Automatic Voltage Stabilizer คืออุปกรณ์ที่จะควบคุมแรงดันไฟฟ้าซึ่งจ่ายไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ภายในบ้านให้มีแรงดันที่สม่ำเสมอ สามารถใช้ในการแก้ปัญหาไฟตก หรือไฟกระชากได้เป็นอย่างดี
ซึ่งการใช้อุปกรณ์ควบคุมแรงดันไฟฟ้าสามารถใช้งานได้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกประเภท และการใช้งานสามารถใช้ได้ทั้งแบบ 1 เครื่องต่อ 1 อุปกรณ์ หรือ 1 เครื่องเพื่อควบคุมแรงดันไฟฟ้าทั้งบ้านก็ได้ โดยวิธีการนำมาใช้ในแต่ละรูปแบบขึ้นอยู่กับความเหมาะสมนั่นเอง
9. การใช้เครื่องสำรองไฟอัตโนมัติ
เครื่องสำรองไฟอัตโนมัติ หรือที่รู้กันดีในชื่อ UPS (Uninterruptible Power Supply) เป็นอุปกรณ์ที่ควรนำมาใช้สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ที่จะเกิดปัญหาเมื่อเกิดไฟตกระหว่างการทำงานอย่างเช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องให้ออกซิเจน UPS นั้นสามารถใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าได้ทุกประเภท
อุปกรณ์เหล่านี้จำเป็นต้องใช้เครื่องสำรองไฟอัตโนมัติเพราะว่า เมื่อเกิดไฟตกจะทำให้หยุดทำงาน และจะสร้างความเสียหายให้กับตัวอุปกรณ์เอง และผู้ที่ใช้อุปกรณ์เหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น เมื่อไฟตกแล้วคอมพิวเตอร์ดับกระทันข้อมูลต่างๆ ในเครื่องอาจจะสูญหาย หรือเครื่องมือแพทย์ถ้าเกิดไฟตกแล้วอุปกรณ์ทำงานผิดปกติอาจจะส่งผลกระทบกับผู้ป่วยได้
โดยการเลือกใช้ UPS ที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับประเภทของอุปกรณ์ที่จะเข้าไปต่อพ่วงเป็นหลัก ซึ่ง UPS ที่เหมาะกับการใช้งานในกรณีที่ไฟตกบ่อยๆ นั้นควรเป็น UPS ประเภท True online เนื่องจากมีระบบ Invertor ที่จะให้สามารถจ่ายกระแสไฟที่มีแรงดันคงที่ป้อนเข้าสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถสำรองไฟได้เป็นเวลานานตามแต่ขนาดของแบตเตอรี่ที่ใช้นั่นเอง
10. การใช้ปลั๊กไฟที่มีระบบ Serge Protection
ปลั๊กไฟระบบ Serge Protection เป็นปลั๊กไฟที่ติดตั้งอุปกรณ์ปรับค่าความต้านทานจากแรงดันไฟฟ้าที่ไม่สม่ำเสมออย่างเช่นกรณีของไฟตก ไฟเกิน ไฟกระชาก ซึ่งระบบ Serge Protection เมื่อเกิดแรงดันไฟที่ไม่สม่ำเสมอจะช่วยปรับแรงดันให้คงที่ แต่สามารถทำได้เพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น และจะทำงานได้เต็มที่ในกรณีที่บ้านติดตั้งระบบสายดินอย่างถูกต้องนั่นเอง
11. การแก้ปัญหาเมื่อเกิดไฟตกระยะยาว
ไฟตกนั้นตามปกติมักจะเกิดเป็นระยะเวลาสั้นๆ เนื่องจากแรงดันไฟฟ้าไม่สม่ำเสมอในระยะเวลาหนึ่ง แต่ถ้าเป็นการเกิดไฟตกในระยะยาวคือไฟตกอย่างต่อเนื่อง มีแรงดันไฟฟ้าไม่เพียงพอเป็นเวลานาน สิ่งที่ควรทำคือแจ้งการไฟฟ้าที่ดูแลในเขตนั้นๆ เพื่อหาสาเหตุ และวิธีการแก้ไขต่อไป
เนื้อหาสาระในบทความนี้จะช่วยชี้ให้เห็นว่าปัญหาไฟตกบ่อยนั้นเกิดขึ้นจากหลากหลายสาเหตุ และสร้างความเสียหายได้อย่างไร ดังนั้นการทำความเข้าใจในสาเหตุของไฟตก จะทำให้รู้ว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้นอีกจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างไร เมื่อเข้าใจในสาเหตุ และวิธีการแก้ปัญหาแล้ว ปัญหาไฟตกก็จะไม่ใช้ปัญหาใหญ่อีกต่อไป
ซ่อมบำรุงอาคาร: ไฟตกบ่อยเกิดจากอะไร มีวิธีแก้ไขได้อย่างไร อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://snss.co.th/dt_post/technical-services/