สภาวะผิดปกติที่บุคคลมีระดับ ความดันโลหิตสูงขึ้นกว่าระดับปกติของคนส่วนใหญ่ และถือว่าเป็นสภาวะที่ต้องควบคุม เนื่องจากความดันโลหิตสูงทำให้เกิดความเสียหาย และการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดง นำไปสู่สภาวะการแข็งตัวของหลอดเลือด การอุดตันของหลอดเลือด หรือหลอดเลือดแตกได้ นอกจากนี้ความดันโลหิตสูงยังเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้เช่น โรคหัวใจวาย โรคอัมพาต โรคสมองเสื่อมหรือโรคไตวายเรื้อรัง
ความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ พบได้ถึงร้อยละ 80-90 อาจเกิดจากพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม หรือปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ความอ้วน การรับประทานอาหารรสเค็มจัด ความเครียด ขาดการ ออกกำลังกาย การตั้งครรภ์บ่อยครั้ง โรคเบาหวาน การรับประทานยาคุมกำเนิด
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตมีส่วนสำคัญพอ ๆ กับการรักษาและการป้องกันโรคความดันสูง และมีประสิทธิภาพดีเช่นเดียวกับการรักษาด้วยการใช้ยา
การรับประทานอาหาร
การปรับพฤติกรรมรับประทานอาหารที่เคยชินบางอย่าง เพื่อช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในระยะยาว ผู้ป่วยอาจจะค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมการกินทีละน้อย เมื่อเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นจึงค่อยปรับให้มากขึ้นจนเป็นปกติ ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติตัวในการดูแลความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตามคำแนะนำต่อไปนี้
จำกัดปริมาณโซเดียมในอาหาร อาหารที่มีโซเดียมต่ำสามารถช่วยควบคุมความดันโลหิตได้ โดยในแต่ละวันไม่ควรบริโภคโซเดียมมากกว่า 2,300 มิลลิกรัม การเลือกและจัดเตรียมอาหารเองโดยลดปริมาณเกลือหรือโซเดียมให้มีปริมาณน้อยลง หรือดูฉลากอาหารและเครื่องปรุงรสก่อนรับประทาน
การรับประทานอาหารต้านความดันสูง หรือแดช ไดเอท (Dietary Approaches to Stop Hypertension: Dash Diet) เป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพและหัวใจ โดยจะเน้นผัก ผลไม้ และธัญพืช เป็นส่วนใหญ่ มีไขมันและเกลือต่ำ ซึ่งผู้ป่วยหรือคนปกติสามารถรับประทานได้ เพราะจะควบคุมระดับความดันโลหิตไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นได้
วิธีป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ดูเพิ่มเติมที่นี่ https://doctorathome.com/disease-conditions/247